Fiber Optic เส้นใยแก้วนำแสง

Last updated: 23 ก.พ. 2567  |  18976 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Fiber Optic เส้นใยแก้วนำแสง


Fiber Optic หรือเส้นใยแก้วนำแสงที่เราคุ้นๆหูกัน นั้นทำมาจากพลาสติกผสมกับแก้ว หรือ Silica ทำให้เส้นใยแก้วนั้นมีความยืดหยุ่น โค้งงอได้ ซึ่งเส้นใยดังกล่าวจะเป็นแกนกลางภายใน โครงสร้างของเส้นใยแก้วจะประกอบด้วยส่วนที่เป็นแกนกลางที่ทำหน้าที่ให้แสงเดินทางผ่านเรียกว่า Core และถัดออกมาจะมีส่วนที่หุ้ม Core เอาไว้เรียกว่า Clad ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าใส 2 ชนิดต่างกัน ที่จะมีอัตตราการหักเหของแสงที่ต่างกันเล็กน้อย ทำให้แสงที่ป้อนเข้าไปใน Core เดินทางไปได้ โดยขนาดของทั้งสองส่วนรวมกันจะพอๆกับเส้นผมของมนุษย์นี่เอง ซึ่งขนาดของ Clad นั้นจะขนาดประมาณ 0.1 ม.ม. เท่านั้น ส่วน Core จริงๆที่ใช้สำหรับส่งผ่านแสงจะมีขนาดเล็กลงมาอีกหลายเท่าตัว
 
 
ในปัจจุบันทางผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตนั้นก็เริ่มมีการให้บริการอย่างแพร่หลายมากขึ้นในส่วนของ Fiber optic ตามบ้าน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า FTTx ซึ่งแต่เริ่มเดิมที่ จะเรียกว่า FTTH หรือ Fiber To The Home แต่เนื่องจากการที่ต้องติดตั้ง Fiber optic เข้าบ้านจริงๆโดยใช้สาย Fiber Optic นั้น จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงเดินสาย Fiber มาพักไว้ตาม Node ต่างๆแทนและเดินสายแข็งหรือสายทองแดงไปตามบ้านและแปลงไปใช้งานอีกที ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ที่จะถูกกว่า ส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้งานของ Fiber Optic นั้น จะมีหลากหลายตามการใช้งาน ซึ่งเราจะนำเสนออุปกรณ์ในบางส่วนให้ได้ดูกันครับ
 

 
หัวเชื่อมต่ออุปกรณ์ของสาย Fiber Optic หรือ Connector
ปัจจุบันผลิตมามากมายหลายแบบ ซึ่งการเข้าหัวและนำไปใช้ก็แตกต่างกันไป โดยแบ่งออกเป็นลักษณะของหัวดังนี้
 

 
1. หัวต่อแบบ ST (ST Connector Fiber Optic) เป็น Connector ที่ถูกนำมาใช้งานสำหรับสาย Fiber Optic ชนิด Single Mode และ Multimode มากที่สุด โดยที่ Connector ประเภทนี้ มีอัตราการสูญเสียกำลังแสงเพียงแค่ไม่เกิน 0.5 dB เท่านั้น วิธีการเชื่อมต่อก็เพียงสอดเข้าไปที่รู Connector แล้วบิดตัวเพื่อให้เกิดการล็อคตัวขึ้น เพิ่มความทนทาน ทำให้ไม่เกิดปัญหาเนื่องจากการสั่นสะเทือน ถูกนำมาใช้กับระบบ LAN Hub หรือ Switches

2.หัวต่อแบบ SC (SC Connector Fiber Optic) ออก แบบโดย AT&T สำหรับการเชื่อมต่อ Fiber Optic ภายในอาคารสำนักงาน ซึ่งเครือข่าย LAN ชนิดนี้ เหมาะสำหรับงานที่ต้องการถอดเปลี่ยน Connector อย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจความแน่นหนาของ Connector
3.หัวต่อแบบ FC (FC Connector Fiber Optic) FC Connector ได้รับการออกแบบโดย NTT ของญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น รวมทั้งสหรัฐและยุโรป ส่วนมาก Connector แบบนี้ จะถูกนำไปใช้งานทางด้านเครือข่ายโทรศัพท์ เนื่องจาก Connector แบบนี้ อาศัยการขันเกลียวเพื่อยึดติดกับหัวปรับ ข้อดีของ Connector ประเภทนี้ ได้แก่ การเชื่อมต่อที่แน่นหนา แต่ข้อเสียคือการเชื่อมต่ออาจต้องเสียเวลามาก

4.หัวต่อแบบ LC (LC Connector Fiber Optic) เป็นหัวเชื่อมต่อที่ใช้งานง่าย สะดวก ราคาถูก มีทั้งแบบโหมดเดี่ยว และหลายโหมด มักใช้สำหรับการรับ ส่ง ข้อมูลที่มีความเร็วสูงมากเช่น GBIC, Gigabit Speed Fast Ethernet Converter หรือเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางแสง (Optical Module) ภายในองค์กร มีขนาดหน้าตัด 9/125


อุปกรณ์ Media Converter
ในการติดตั้งเครือข่าย Fiber Optic สามารถทำได้โดยการใช้อุปกรณ์แปลงสัญญาณหรือก็คือ Media Converter ที่จะทำหน้าที่แปลงจากระบบสายสัญญาณทองแดงไปเป็นระบบสายสัญญาณใยแก้วนำแสง โดยการแปลงทำให้ได้ระยะไกลขึ้น 2 กม. สำหรับสาย Multimode  และ 15 กม. สำหรับสาย SInglemode

การเชื่อมเส้นใยแก้วนำแสง
ในปัจจุบันการเชื่อมเส้นใยแก้วนำแสงมีมากมายหลายแบบ เพื่อสำหรับต่อระยะสาย Fiber Optic ให้ไกลตามความจำเป็น ซึ่งแบ่งเป็นแบบที่ใช้หัวต่อซึ่งสะดวกต่อผู้ใช้ (Mechanical Splice) และแบบหลอมละลายที่ให้ความแม่นยำและให้ค่าลดทอนสัญญาณที่ดีที่สุด โดยทั่วไปแล้วการเชื่อมต่อต้องการมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน เมื่อใช้งานทำให้เกิดการสูญเสียของแสงต่ำ และมีราคาถูก

การเชื่อมต่อทางกล (Mechanical Splice)
จะใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อทางกลเพื่อยึด Fiber Optic 2 เส้น เข้าด้วยกัน โดยจะมีปลอกสำหรับล็อคเป็นตัวเชื่อมและอัดปลอกให้แน่นหนาอีกชั้น


การเชื่อมต่อวิธีหลอมละลาย (Fusion Splice)
เป็นการหลอมละลาย Core ของ Fiber Optic ให้เชื่อมติดกัน ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด การเชื่อมด้วยการหลอมนั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วยนั่นคือเครื่อง Fusion Splice ซึ่งหลักการทำงานนั้นจะอาศัยความร้อนเป็นหลักในการเชื่อมปลายสายทั้งสองเส้นเข้าด้วยกัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้